SLA 3D Printer กับ FDM 3D Printer เลือกใช้แบบไหนดี

SLA 3D Printer กับ FDM 3D Printer เลือกใช้แบบไหนดี

ปัจจุบัน 3D Printer เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือผลิตชิ้นงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีการปริ้น 3 มิตินี้อย่างต่อเนื่อง SLA 3D Printer กับ FDM 3D Printer เป็นเทคโนโลยีการปริ้น 3 มิติที่ได้รับความนิยม ซึ่งทั้งสองต่างมีข้อดีและข้อจำกัดในการผลิตชิ้นงานที่แตกต่างกันออกไป บทความนี้จะมาสรุปความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง SLA และ FDM พร้อมแนะนำว่าประเภทใดเหมาะสำหรับงานพิมพ์ 3D แบบไหน เพื่อให้คุณตัดสินใจเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการผลิตชิ้นงานมากที่สุด

 

รู้จักกับ SLA 3D Printer และ FDM 3D Printer

SLA (Stereolithography) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติประเภท Vat Photopolymerisation ที่ใช้วิธีการฉายแสงเพื่อทำให้วัสดุเหลวหรือเรซิ่นแข็งตัวเป็นชิ้นงาน และ FDM (Fused Deposition Modeling) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติประเภท Material Extrusion ที่ใช้วิธีการฉีดวัสดุผ่านหัวฉีดออกมาเพื่อสร้างชิ้นงานทีละชั้น เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากสามารถใช้ผลิตงานได้อย่างหลากหลาย มาทำความรู้จักกับ SLA 3D Printer และ FDM 3D Printer ดังนี้

 

SLA 3D Printer

SLA 3D Printer เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ใช้วิธีการฉายแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อทำให้วัสดุเหลวหรือเรซิ่นในถังหรืออ่างแข็งตัวเป็นชิ้นงาน โดย SLA 3D Printer จะทำกระบวนพิมพ์ซ้ำเพื่อสร้างเลเยอร์ถัดไป และดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเป็นชิ้นงานตามที่ต้องการ เรซิ่นที่ใช้เป็นเรซิ่นโฟโตพอลิเมอร์เหลวที่มีความไวต่อแสง ดังนั้น คุณสมบัติจะเปลี่ยนทันทีเมื่อสัมผัสกับแสง UV เป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่า พอลิเมอไรเซชัน

 

ข้อดี–ข้อจำกัดของ SLA 3D Printer

กระบวนการโพลีเมอไรเซชันใน SLA ส่งผลให้งานมีความละเอียดสูง จนไม่สามารถมองเห็นเส้นเลเยอร์จากการพิมพ์งานได้ด้วยตาเปล่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D อื่น ๆ อย่างเช่น FDM พื้นผิวของชิ้นงานที่ได้มีความเรียบเนียนและมีคุณภาพสูง จึงเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมเทคโนโลยี SLA เป็นที่นิยมในหลายอุตสาหกรรม มักใช้ในการสร้างแม่พิมพ์ งานโมเดล ออกแบบเครื่องประดับ หรืองานที่ต้องการรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ

เนื่องจาก SLA 3D Printer ไม่ต้องใช้หัวฉีด จึงไม่สามารถจำกัดความละเอียดได้เหมือนกับ FDM แต่ขนาดจุดของเลเซอร์จะเป็นตัวกำหนดความละเอียดของงาน และระยะเวลาการผลิตชิ้นงานจะช้ากว่า FDM เนื่องจากการสร้างเลเยอร์แต่ละชั้นมีความละเอียดสูงจึงใช้เวลานานกว่านั่นเอง

 

FDM 3D Printer

FDM 3D Printer เทคโนโลยีการผลิตด้วยกระบวนการเติมเนื้อ (Additive Process) เป็นการสร้างชิ้นงานทีละชั้นโดยใช้เส้นใยเทอร์โมพลาสติกเป็นวัสดุ เช่น PLA, ABS, PETG หรืออื่น ๆ ซึ่งเป็นประเภทพลาสติกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยวิธีการทำให้พลาสติกโดนความร้อนจนละลายแล้วฉีดขึ้นรูปออกมาผ่านหัวฉีด เส้นผ่านศูนย์กลางของหัวฉีดมีบทบาทสำคัญในการกำหนดความละเอียดของชิ้นงาน ขนาดหัวฉีดที่เล็กลงช่วยให้ได้ชิ้นงานที่มีความละเอียดขึ้นแต่ก็จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ข้อดี–ข้อจำกัดของ FDM 3D Printer

กระบวนการหลอมละลายพลาสติกแล้วฉีดขึ้นรูปนี้ช่วยประหยัดเวลาในการผลิตชิ้นงาน FDM จึงได้รับความนิยมเนื่องจากความรวดเร็วและความคุ้มค่า แต่ก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูง ซึ่งความละเอียดของ FDM จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี SLA หากต้องการเพิ่มความละเอียดให้กับชิ้นงาน ต้องนำไปผ่านขั้นตอนการขัดหรือการลงสีเคลือบ จึงมักใช้ในการสร้างชิ้นงานที่ต้นทุนต่ำ หรือสร้างต้นแบบชิ้นงานเพื่อตรวจสอบการออกแบบ

 

การเลือกใช้ SLA 3D Printer และ FDM 3D Printer

ก่อนตัดสินใจเลือกใช้ SLA 3D Printer หรือ FDM 3D Printer ต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญหลายประการเพื่อให้ได้งานที่ตรงตามความต้องการและคุ้มค่ามากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความละเอียดของชิ้นงานและงบประมาณที่มี อีกทั้งการมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ ส่งผลต่อการได้ชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย Septillion เราพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำฟรี โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ สามารถเยี่ยมชมเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และทดลองพิมพ์ชิ้นงานฟรีก่อนตัดสินใจ